On-Page SEO เป็นหนึ่งในปัจจัยในการทำ SEO ให้เว็บไซต์ติดอันดับบนหน้าผลการค้นหาของ Google Search Engine และค่อนข้างจะเป็นเรื่องที่ต้องลงรายละเอียดกันเยอะพอสมควร
วันนี้จึงอยากจะพาทุกคนมาทำความรู้จักเกี่ยวกับ On Page SEO คืออะไร มีอะไรบ้างที่ต้องทำ แบบจับมือปรับแต่ง Contents ในรูปแบบ Step By Step ฉบับเข้าใจง่ายๆ สามารถทำได้ด้วยตนเอง
รับรองว่าจะช่วยทำให้เว็บไซต์ของคุณเติบโต มี Traffic มากขึ้น จนนำไปสู่ Converssion ที่มากกว่าเดิมอย่างแน่นอน !
On-page SEO คืออะไร
On-Page SEO คือ การปรับแต่งเว็บไซต์ให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อปรับปรุงอันดับให้อยู่ใน Rank ที่ดีที่สุด ของ Google และมีปริมาณการผู้เข้าใช้เว็บไซต์เพิ่มมากขึ้น On-Page SEO เป็นปัจจัยที่เราสามารถควบคุมได้ ดังนั้นจึงต้องปรับแต่งให้ดีที่สุด
On-Page ยังมีความเกี่ยวข้องกับ คุณภาพของเนื้อหาบนเว็บไซต์, HTML Tags (title, meta, and header), รูปภาพ และยังรวมถึง E-A-T เกณฑ์วัดคุณภาพเนื้อหาของ Google
ทำไม On-Page SEO จึงสำคัญ
ถึงแม้ปัจจุบันนี้ Google จะฉลาดกว่าแต่ก่อนมาก แต่การประมวลผลของ Search Engine ในการประเมินคุณภาพของเนื้อหาที่มีอยู่มากมายบนโลกอินเทอร์เน็ต ก็ยังคงต้องพึ่ง algorithm ในการประมวลผลชุดข้อมูล ในรูปของเนื้อหาบนเว็บไซต์อยู่ดี ยังไม่สามารถให้ algorithm สามารถเข้าใจเนื้อหานั้นๆ ได้ ถ้าไม่มี “Keywords” คำนั้นอยู่บนหน้าเว็บไซต์
ถ้าใครยังไม่รู้จักเกี่ยวกับกระบวนการทำงานของ Google ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ทุกคน ควรจะรู้ก่อนเริ่มต้นทำ SEO ผมแนะนำให้อ่าน SEO คืออะไร ทะยานสู่ Rank 1 บนผลการค้นหาของ Google ใน 6 ขั้นตอน
เพื่อให้เข้าใจ ถึงความสำคัญของการปรับแต่งเว็บไซต์ ในส่วนของ On-Page SEO มากขึ้น ผมขอ ยกตัวอย่างให้ดูอีกสักหนึ่ง Case โดยให้สังเกตุ title tags ของหน้าเว็บไซต์บน SERP (search engine results page)
เรามาดู title tags บนหน้าผลการค้นหาของ keyword คำว่า “ประกันรถยนต์” กันครับ
จากรูปภาพตัวอย่าง เราจะเห็นว่า title tags ของเว็บไซต์ที่อยู่ในอันดับสูงๆ ของ keyword ที่มีการแข่งขัน จะมี keyword ที่ต้องการทำอันดับ อยู่ใน title tags ทุกเว็บไซต์เลย สาเหตุที่เป็นลักษณะนี้ ก็เพื่อให้ Google เข้าใจว่าหน้าเว็บไซต์นั้น เกี่ยวข้องกับอะไร ให้ได้มากที่สุด
สรุปได้ว่า ถึงแม้ Google จะฉลาดขนาดไหน ก็ยังต้องเพิ่ง ข้อมูลบนเว็บไซต์ เนื่องจาก Google จะเข้าใจหน้านั้นได้ ก็ต่อเมื่อมี Keyword ที่เกี่ยวข้องอยู่ เพื่อใช้ในการประมวลผลและจัดอันดับ
ดังนั้น เราจึงต้องปรับแต่งโครงสร้างของหน้าเว็บไซต์ หรือหน้ากระดาษของเรา ที่ต้องการทำอันดับให้ดีที่สุด เช่น การปรับแต่งบทความ, การปรับสปีดเว็บไซต์, Keywords Research, การปรับแต่งให้เข้าเกณฑ์ E-A-T ที่เป็นเกณฑ์การวัดผลคุณภาพเนื้อหาของ Google
ก่อนอื่น วิธีการปรับแต่ง On-Page SEO ที่ผมจะเขียนต่อไปนี้ ทุกคนจะปรับแต่งตามได้ ก็ต่อเมื่อเว็บไซต์ ใช้ระบบ WordPress และพอจะมีพื้นฐานในด้านการทำเว็บด้วย WordPress ระดับนึงครับ เพื่อให้เข้าใจและสามารถกดคลิ๊ก ปรับแต่งตามได้
หากไม่ได้ใช้ เว็บไซต์ระบบ WordPress ก็ยังเอาไปใช้ได้นะครับ บอกโปรแกรมเมอร์ให้จัดการให้ หรือใช้แต่ยังไม่ได้เริ่มต้นลองปรับแต่งเอง ก็เรียนรู้ในส่วนนี้ก่อนแล้วค่อยศึกษาการใช้งานทีหลังได้
เอาละครับ เรามาเริ่มต้น ในการปรับแต่ง On-Page SEO กันเลย
Plugins Yoast SEO ตัวช่วยปรับแต่ง SEO ให้กับเว็บไซต์
อันดับแรก เรามาเตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ในการปรับแต่ง SEO ของเว็บไซต์กันก่อนครับ
แน่นอนครับ เราไม่ใช่โปรแกรมเมอร์ การจะเขียนชุดโค้ด ที่ให้ Google เข้าใจ คงไม่ได้ใช้เวลาศึกษาได้แบบเร็วๆ แน่นอน เพราะเราไม่ได้เรียนสายนี้มา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ดังนั้น เราจึงต้องติดตั้งส่วนเสริมของ WordPress หรือ ปลั๊กอิน (Plugins) ที่เกี่ยวกับ การปรับแต่ง SEO มาช่วยให้ทำงานได้ง่ายขึ้น
โดย ปลั๊กอินที่ช่วยในเรื่องของการปรับแต่ง SEO ก็มีอยู่ด้วยกันหลายตัว เช่น Yoast SEO หรือ Rank Math SEO
ปลั๊กอินพวกนี้ จะช่วยให้เราปรับแต่ง SEO ได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่าง เช่น การสร้าง meta tag ต่างๆ อย่าง title tag เพื่อให้ google ดึงไปแสดงบนหน้าผลการค้นหา เราก็ไม่จำเป็นต้องเขียนโค้ดยาวๆ อย่างรูปด้านล่างนี้
เพราะ Yoast SEO ทำระบบให้เราเขียน ใส่ลงไปได้แบบง่ายๆ แบบในรูปตัวอย่างด้านล่างนี้ครับ
ปลั๊กอิน ที่เกี่ยวข้องกับการช่วยปรับแต่ง SEO จำเป็นต้องติดตั้ง ไว้ตั้งแต่เริ่มต้นสร้างเว็บไซต์เลยครับ เพราะมีประโยชน์มากๆ ในการช่วยปรับแต่ง On-Page SEO ให้เรา โดยที่เราไม่จำต้องเป็นรู้โค้ด
วิธีการติดตั้งนั้นก็ง่ายมาก
เพียงแค่เราเข้าระบบหลังบ้านเว็บไซต์ ของ WordPress จากนั้น เลือก menu plugins หากเป็นภาษาอังกฤษ ปลั๊กอิน หากเป็นภาษาไทย แล้ว ค้นหาคำว่า yoast seo ในช่องค้นหา จากนั้นกด install now ที่ปลั๊กอิน Yoast SEO เมื่อ download เสร็จแล้วให้กด Activate เป็นอันเสร็จเรียบร้อย
เมื่อมาดูที่ Installed Plugins มองหาปลั๊กอิน Yoast SEO จะได้หน้าตาแบบนี้ครับ
การวางแผนก่อนการปรับแต่ง On-Page SEO
การวางแผนก่อนการเริ่มเขียน content marketing เราทำเพื่อให้บทความที่ลงมือทำนั้น มีโอกาสเข้าเป้ามากยิ่งขึ้นครับ ในเรื่องของการทำ SEO จุดประสงค์ของเราก็เพื่อทำให้เว็บไซต์มี traffic ที่เพิ่มมากขึ้น
จากการทำ contents marketing ลงบนเว็บไซต์ ให้บทความของเราติดใน SERP ของ Google ใน keywords ที่เราต้องการ ยิ่งติดใน keywords ที่เกี่ยวข้องกับหมวดหมู่ธุรกิจ เราก็ยิ่งมีโอกาสในการขายสินค้าหรือบริการมากยิ่งขึ้น
การทำ On-Page SEO ยังมีวิธีการทำที่แตกต่างกันไปด้วยครับ เนื่องจาก Google นั้น ให้ผลลัพธ์ของการค้นหาตาม search intent
ถ้าเราค้นหาอะไรที่เกี่ยวกับ ข้อมูล คำถาม เช่นคำว่า คืออะไร อย่างไร ที่ไหนดี ทำไม ผลลัพธ์จากการค้นก็จะแสดงเป็นเว็บไซต์ที่ให้ ข้อมูล
แต่ถ้าหากเราค้นหาเกี่ยวกับ รูปภาพ หรือ สินค้า ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะเป็น รูปภาพ หรือสินค้า เยอะๆ
ถ้าค้นหาเกี่ยวกับสถานที่ เช่น ร้านอาหารอร่อยๆ หน้า SERP google my business ก็จะมีโอกาสที่จะขึ้นก่อน เพื่อแสดงถึงร้านค้าใกล้ๆ
การวางแผนดู search intent ในหน้าผลการค้นหาก่อนก็จะช่วยให้เรากำหนด แนวทางการทำบทความ ให้มีโอกาสที่จะติดในหน้าผลการค้นหามากขึ้น
หลายท่าน อาจสงสัย ทำไมเราทำบทความดีแล้ว ทำครบทุกปัจจัย ใส่ backlink ระดับเทพ แต่ไม่ติดหน้าผลการค้นหา ลองสำรวจ search intert ดูก่อนนะครับ ว่าเป็นเพราะเราทำผิดเจตนาของผู้ค้นหารึเปล่า
การวางแผนการทำ Content Marketing ยังช่วยทำให้มองเห็นภาพรวม และแตกเป็นบทความย่อยๆ ที่ไว้ใช้เป็น supporting content สำหรับ ดันอันดับบทความหลักที่เราต้องการได้ด้วย
ในปัจจุบัน มีความยากมาก ที่เราจะมี เพียง บทความในเว็บไซต์เพียงบทความเดียวแล้วจะให้ติดอันดับใน keywords ที่ค่อนข้างมีการแข่งขัน ภายในเว็บไซต์เราควรจะมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับหมวดหมู่ที่เราทำมากยิ่งขึ้น เพื่อแสดงถึงความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ
ดังนั้นแล้ว ก่อนที่จะปรับเนื้อหา ในส่วนของ On-Page SEO เพื่อให้ ผู้ใช้รักและ Google ชอบ ผมแนะนำให้อ่านที่บทความนี้ Keywords Research วางแผน กลยุทธ์ขับเคลื่อน traffic ให้ตรงเป้า
การเขียนบทความ
1. Unique Content
เนื้อหาที่สดใหม่ และไม่เหมือนใคร เป็นสิ่งที่ Google ชื่นชอบมากครับ ลองคิดดูว่าถ้าภายใน SERP มีแต่ผลการค้นหาที่เหมือนๆ กันไปหมด จะเป็นอย่างไร? การฉีกประเด็นที่น่าสนใจ ในหัวข้อที่เราเขียน จะช่วยทำให้บทความของเรา มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ทั้งในส่วนของ visitor และ google แต่ เนื้อหาที่เขียน ก็ควรฉีกประเด็นในส่วนที่ สำคัญ มีประโยชน์และเกี่ยวข้องกับ keyword ที่เราต้องทำอันดับนะครับ ฉีกเกินไปก็อาจจะหลุดกรอบของ Google ได้
2. ความลึกของเนื้อหา
ข้อนี้ต้องทำความเข้าใจให้ดีก่อนนะครับ ระหว่าง เนื้อหายาว กับ ความลึกของเนื้อหา เพราะบางคนพอรู้ว่าเนื้อหายาว ๆดี เรื่องที่ไม่ควรจะยาวแต่ก็ยาวจนไม่วนเวียนไปหมด ทำให้คุณภาพเนื้อหา ที่เป็นส่วนสำคัญหายไป
ดังนั้นจึงควรที่จะโฟกัสที่ความลึกของเนื้อหา เพราะ ยิ่งเขียนลึกได้มากเท่าไหร่ ก็จะควบคุมโฟกัสในเรื่องที่กำลังจะเขียนได้ดีและยังแสดงถึงความเชี่ยวชาญของเราด้วย เช่น ถ้าผมต้องเขียนรีวิวเก้าอี้ไฟฟ้า 1 ตัว ผมสามารถที่จะเขียนถึง วัสดุที่นำมาผลิตเก้าอี้ ระบบการทำงานของเก้าอี้ไฟฟ้า การติดตั้งเก้าอี ข้อดี-ข้อเสีย ของเก้าอี้ไฟฟ้า ข้อควรระวังการใช้เก้าอี้ เป็นต้น
แต่ในบ้างกรณี ความลึกของเนื้อหาก็ไม่จำเป็นนะครับ ยกตัวอย่างเช่น ใน keyword “แมว ภาษาอังกฤษ” คำตอบมันก็ไม่จำเป็นตรงยาวมาก
สำคัญสุด คือ อย่าเขียนเนื้อหาที่มีแต่น้ำไม่มีเนื้อ ไม่เช่นนั้น บทความที่เราทำมันจะกลายเป็นบทความขยะ และบทความเป็ด ที่ไม่เก่งด้านใดสักอย่างเลย
3. เขียนเนื้อหาให้น่าสนใจ
การเขียนบทความ เป็นศาสตร์และศิลป์ ในมุมมองของผม คิดว่าหลายท่านคงมีไม่เหมือนกัน ผลลัพธ์อาจจะดีหรือไม่ดี อยู่ที่ผู้อ่านเป็นคนตัดสินใจ นักเขียนท่านนึงที่ผมรู้จัก ที่เขียนเกี่ยวกับ SEO มีคนนึง เขียนฉีกมากๆ โดยใช้ภาษาเป็นกันเอง ติดตลก ไม่เป็นทางการใดๆ ทั้งสิ้น ผู้อ่าน อ่านบทความเขาถึง 3 นาที 4 นาที ทุกบทความ ก็มีมาแล้ว ดังนั้นผมมองว่าไม่ตายตัวครับ แต่ผมขอเพิ่มเติม บางจุด ดังนี้
- การเขียนควรเว้นบรรทัด ให้อ่านง่ายที่สุด ไม่ควรเกิน 5 บรรทัด
- เขียนแต่ประเด็นที่มีประโยชน์กับคนอ่าน
- เพิ่มความคิดเห็นของตนเองลงไปในบทความ
- เขียนในภาษาพูด เพื่อให้คนอ่านไม่รู้สึกเบื่อ
- ตอบคำภามเป็นข้อๆ 1 2 3 4 5 ช่วยให้เข้าใจได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
- เขียนแบบไหนก็ได้ ให้ดีกว่าเว็บไซต์ที่อยู่ที่ 1 บนหน้า SERP Google ใน Keywords เราต้องการทำอันดับ
หากใครต้องการดูตัวอย่างการเขียนดีๆ มีสไตล์นักเขียนท่านนึงที่ผมชอบ นั้นคือ พี่เจษ https://ohmpiang.com/ ครับ
การปรับแต่งบทความ On-Page
1. Meta Tags
Meta Tags คือชุดข้อมูลที่เราใช้บอกว่า หน้าเพจนี้คือ หน้าเพจที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอะไร เป็นส่วนที่จะไม่ถูกแสดงบนหน้าเว็บให้ผู้ใช้เห็น แต่จะมีไว้เพื่อให้ robot ที่มาเก็บข้อมูลอ่าน เพื่อทำความเข้าใจหน้าเพจ โดยมี ส่วนสำคัญอยู่ 2 ส่วน นั้นคือ title tag และ meta description
- Title tag คือ ชื่อเรื่องของเพจ เป็นส่วนที่ผมมองว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อการทำ SEO ในปัจจุบัน Title Tag ของทุกเพจภายในเว็บไซต์ไม่ควรซ้ำกัน 1 เพจ ควรเน้นไปที่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง keywords ใด keywords หนึ่ง สำหรับ Google ได้กำหนดความกว้างของ title tag ไว้ที่ 50–60 characters ใน title tag ต้องมี keywords ที่ต้องการทำอันดับชัดเจน
- Meta description คือเนื้อหาอธิบายภาพรวมของเพจ มีหลายสำนักบอกว่า ไม่มีผลต่ออันดับ แต่มีผลต่อการตัดสินใจของผู้อ่าน ถ้าเขียนได้น่าสนใจ ก็มีจะคนคลิ๊กเข้ามาเยอะมากขึ้น สำหรับมุมมองของผม ใน meta description ก็ควร มี keywords ที่เราต้องการทำอันดับเช่นกัน Google ได้กำหนดความกว้างไว้ที่ 160 characters
2. Friendly URLs
URL คือที่อยู่ของข้อมูล ดังนั้นการที่ข้อมูลเหล่านั้นมีชื่อที่เกี่ยวกับ Keywords มันก็จะช่วยให้ Contents มีความเกี่ยวข้องมากยิ่งขึ้น หัวข้อนี้มีหลายคนมักสงสัยว่า URL ควรที่จะทำเป็น ภาษาไทย หรือเป็นภาษาอังกฤษดี อันที่จริงจะทำภาษาไหนก็ได้ครับ แต่ผมขอแนะนำให้ใช้ภาษาอังกฤษจะดีที่สุด เพราะถ้าใช้ ภาษาไทย เวลาที่ Copy URLs ไปวางจะเป็นภาษามนุษย์ต่างดาว ซึ่งไม่สวยและไม่น่าคลิ๊กเลย เมื่อมีนำไปวางไว้เป็น Backlink
ยกตัวอย่าง URL ที่เป็นมิตร : https://example.com/what-is-seo/ คือ URL ที่เราสามารถเข้าใจได้ว่าจะนำพาเราไปสู่เรื่องอะไรและต้องมี คำ หรือ วลี ที่เกี่ยวข้องอยู่ด้วย
URL ที่ไม่มิตรละเป็นยังไง : https://www.example.com/path/to/myfile.html?key1=value1&key2=value2#SomewhereInTheDocument จากตัวอย่างจะเห็นว่า เราไม่มีทางที่จะเข้าใจได้เลยว่า URL ที่แสดงจะนำพาเราไปสู่เรื่องไหน หรือก็คือ URL ที่อ่านแล้วไม่รู้เรื่องนั้นเอง
3. Focus keyword in first paragraph
หากลองคิดถึงผู้ใช้งานที่เข้ามาอ่านข้อมูลบนเว็บไซต์ ตามปกติแล้วเราจะต้องอ่านจากบนลงล่าง ถูกต้องไหมครับ แทบจะไม่มีใครเลยที่อ่านจากล่างขึ้นข้างบน ในกรณีของ Google ก็เช่นกัน เวลาที่เขาสแกนข้อมูลบนเว็บไซต์ ก็เริ่มต้นจากด้านบนของเว็บไซต์จนถึงด้านล่าง
ดังนั้นการนำ Keywords หลัก หรือ Keywords ที่เกี่ยวข้อง ไว้อยู่ที่ first paragraph ก็จะช่วยทำให้ robot และผู้ใช้งานเข้าใจเนื้อหาของเราได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้นครับ
4. Keyword Frequency
Keyword Frequency คือ ความหนาแน่นของ keywords ที่เราต้องการทำอันดับภายในบทความ ถึงแม้ในปัจจุบัน Google จะฉลาดกว่าเดิมมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ฉลาดจนสามารถวิเคราะห์ได้เทียบเท่ากับมนุษย์ครับ บ้างเนื้อหาถึงแม้ ไม่มี keywords คำๆนั้นอยู่ มนุษย์ก็สามารถที่จะเข้าใจได้ว่าเรื่องนั้นเกี่ยวข้องกับอะไร แต่ Google ยังจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ผ่าน keywords ภายในบทความของเราครับ
ในส่วนนี้ผมว่าสักวัน ทาง Google เขาคงจะ Update Google จนถึงขั้นให้มันวิเคราะห์ได้เทียบเท่าหรือดีกว่ามนุษย์ในสักวันหนึ่ง… ซึ่งอาจจะหมายถึง เราอาจไม่จำเป็นต้อง Optimize ทางเทคนิคคอล SEO กันอีกต่อไป แต่วัดที่คุณภาพของเนื้อหาล้วนๆ เพราะ Google เข้าใจเนื้อหาได้เท่ากับที่มนุษย์อ่าน
ซึ่งดูน่ากลัวนะครับ เพราะมันหมายถึง นัก SEO อาจจะไม่มีความจำเป็น และหมายถึงผมอาจจะรับทำ SEO ไม่ได้อีกต่อไป…
5. Long Tail Keywords
ปัจจุบัน Long Tail Keywords หรือการค้นหาด้วยคำยาว ๆ เป็นเรื่องที่ผมค่อนข้าง ให้ความสำคัญ เพราะยิ่งคำค้นหายาว ก็จะแสดงถึงความต้องการได้มากยิ่งขึ้น ในส่วนของ On Page SEO ผมมักจะแอบแทรกเอาไว้เสมอ
Long Tail Keywords ส่วนใหญ่ มีการแข่งขันที่ไม่สูงมากนัก จึงสามารถทำให้เราขึ้นอันดับได้ไม่ยาก จึงช่วยเพิ่ม Traffic เข้าสู่เว็บไซต์ได้รวดเร็ว เป็นฐานไปสู่การดันอันดับ Keywords หลักของเราครับ และจากสถิติจริงๆ ที่ผมรับทำ SEO พบว่า keywords เหล่านี้ ให้ Conversion Rate ที่สูงกว่าด้วยครับ
นอกจากนั้น หากมีไว้ภายในบทความ ก็จะช่วยทำให้หน้าเพจหน้านั้น ติดอันดับคำเหล่านั้นเพื่อเรียก traffic เข้าเว็บไซต์ได้เพิ่มมากขึ้ินครับ
ตัวอย่าง long tail keywords เช่น keywords “ล้อรถยนต์” เมื่อเรานำไป research keywords ก็จะได้ long tail keywords เป็น “ซื้อล้อรถยนต์มือสองราคาถูก”
ถ้าอยากรู้ว่า Long Tail Keywords คืออะไร ให้มากยิ่งขึ้น ผมแนะนำให้อ่าน Long Tail Keywords ถึง Volume จะเงียบ ก็ฟาด Conv. เพียบ !
6. Heading Tags
หัวข้อของเนื้อหา สำหรับผู้อ่านปกติ ก็จะรู้กันอยู่แล้วใช่ไหมครับ ว่าส่วนไหนเป็น หัวข้อใหญ่ หัวข้อรอง แต่ Google นั้นไม่ได้มองเห็นเหมือนที่มนุษย์เห็น เราจึงต้องเขียนภาษา HTML เพื่อบอกให้เขารู้ว่าส่วนไหนเป็น หัวข้อหลัก หัวข้อรอง โดยปกติ จะนิยม ใช้กันที่ H1, H2 และ H3 โดยนิยม ให้ H1 หรือหัวข้อใหญ่สุด นั้นมีเพียงแค่ตำแหน่งเดียวเท่านั้น ในหนึ่งหน้าเพจ และให้ H2 เป็นหัวข้อรอง เพื่อใช้อธิบายหัวข้อใหญ่สุด เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ผมอยากให้ดูที่ตัวอย่างด้านล่างครับ
สมมุติว่าผม Research Keywords คำว่า “เสริมหน้าอก” แล้วได้ ข้อมูลมาในรูปแบบนี้
และผมต้องการทำอันดับที่ Keywords “เสริมหน้าอก” ผมก็จะแตกหัวข้อการเขียนบทความออกมาเป็น ลักษณะนี้ครับ
- H1 : เสริมหน้าอก
- H2 : เสริมหน้าอกที่ไหนดี
- H2 : เสริมหน้าอกด้วยไขมันตนเอง
- H2 : เสริมหน้าอก ราคา
จะเห็นว่าหัวข้อที่ผมหยิบยกมาจะมี Keywords อยู่ด้วย ยิ่งทำได้ละเอียด และยังอยู่ในประเด็นหัวข้อที่ต้องการจะเขียน นอกจากจะช่วยในเรื่องของการเพิ่ม Keywords แล้วยังรวมถึงการเพิ่มความลึกของคอนเทนท์
จากตัวอย่าง ก็ใช่ว่าจำเป็นต้องใช้ Keywords เสริมหน้าอก ทั้งหมดนะครับ แยกประเด็นที่เกี่ยวข้องออกมาอีกก็ได้ เช่น จากตัวอย่างเดิม อาจจะเพิ่มหัวข้อ เสริมหน้าอกปรับโหงวเฮ้ง, ข้อดีการเสริมหน้าอก
7. Image SEO
การอ่านเนื้อหาที่มีแต่ ตัวอักษร นานๆ จะทำให้สายตาคนเรานั้นล้าเป็นอย่างมาก การมีรูปภาพจะช่วยคั่นสายตา และอธิบายเนื้อหาภายในบทความของเราได้ดียิ่งขึ้น และหากเราทำ image ในลักษณะของ infographic สวยๆ ที่ช่วยสะกดผู้อ่าน ให้ต้องใช้สมาธิในการดเพ่งดูได้ ก็จะช่วยทำให้เขาอยู่ในบทความของเราได้นานยิ่งขึ้น เพราะสมองของคนเรานั้น รับรู้ข้อมูลผ่านรูปภาพได้ดียิ่งกว่าเนื้อหาครับ
แต่ไม่ใช่ทำรูปภาพที่แค่เอามาคั่นให้ผู้อ่านดูผ่านๆ นะครับ พลังของรูปภาพ มีมากยิ่งกว่านั้น
ทางด้านเทคนิคของ SEO ในส่วนของรูปภาพ เราเองก็ต้องใส่ keywords ไว้ภายในรูปภาพเช่นกัน เพื่อทำให้ Google เข้าใจว่ารูปนี้เกี่ยวข้องกับอะไร เรารู้กันแล้วใช่ไหมครับ ว่า Google ไม่ได้มองเห็นเหมือนที่มนุษย์มองเห็น ส่วนสำคัญที่จะทำให้ Google เข้าใจรูปของเราก็คือ alt text ครับ
อีกหนึ่งส่วนที่สำคัญ รูปภาพมักจะเป็นปัญหาที่ทำให้เว็บไซต์ของเราช้าครับ ดังนั้นการปรับแต่งรูปภาพให้มีขนาดไฟส์ที่เล็ก จึงช่วยให้เว็บไซต์โหลดเร็วขึ้นได้ โดยผมขอสรุปการปรับแต่งเว็บไซต์ป็นข้อๆดังนี้ครับ
- ใส่ alt text ในรูปภาพ
- ใส่ชื่อรูปภาพให้มี keywords
- ลดขนาดรูปภาพให้มีขนาดเล็กไม่ควรเกิน 100kb
- รูปภาพควรใช้นามสกุล webp สามารถใช้ปลั๊กอินช่วยได้ครับ
- ขนาดของรูปต้องพอดีกับการแสดงผลจริง ไม่ใช่ ใช้ความกว้างจริงๆ 800 แต่ใช้รูปกว้าง 1920
- ควรใช้รูปภาพที่ไม่เหมือนใคร
- ข้อมูลของรูปภาพควรสอดคล้องกับรูปภาพ
8. Internal Link
การทำ internal link คือการทำลิงค์เชื่อมโยงจากหน้าเพจ A ไปยัง หน้าเพจ B ภายในโดเมนเดียวกัน
Google พยายามทำเข้าใจเว็บไซต์ โดยการส่ง Robot มาเก็บข้อมูลจากหน้าเพจนึงไปอีกหน้าเพจนึง ผ่าน link ที่เชื่อมโยงถึงกัน หากภายในเว็บไซต์เรามีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องใดเรื่องนึงแล้วเชื่อมโยงถึงกัน Google ก็จะยิ่งทำความเข้าใจภาพรวมของเว็บไซต์ได้ดีมากยิ่งขึ้นครับ ว่าเว็บไซต์ของเรานั้น เป็นเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอะไร
โดยหนึ่งในเทคนิคการทำ internal link ยอดนิยม คือการทำ Content Hubs เพื่อทำให้เว็บไซต์ของเรานั้นเป็นศูนย์กลางของเรื่องนั้นๆ ครับ
นอกจากจะดีต่อกูเกิลในส่วนของผู้ใช้เอง ยังสามารถสร้างประสบการณ์ของผู้ใช้ที่ดีขึ้นได้ เพราะ ถ้า ผู้ใช้คลิ๊กไปยังเนื้อหาต่อไป ผู้เข้าใช้ก็จะอยู่ในเว็บไซต์นานขึ้น และหมายถึงเว็บไซต์มีเรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่ตรงกับความต้องการของผู้อ่านครับ
เรามาดูตัวอย่างการทำ internal link กันดูครับ
การทำ internal link ที่นิยมจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท
- การทำ internal link แบบประโยคยาวๆ กระตุ้นให้น่าคลิ๊กมากยิ่งขึ้น เช่น “On-Page SEO คืออะไร ปรับแต่งอย่างไรให้อันดับพุ่ง ติดที่หนึ่ง”
- การทำ link แบบใช้ keywords ที่ต้องการทำอันดับ ในหน้าที่ต้องการอันดับ ตรงๆ เช่น “On-Page SEO คืออะไร”
วิธีการทำนั้น ผมแนะนำให้ใช้สลับๆ กันไปอย่างเป็นธรรมชาติครับ เช่น 3 บทความ ใช้ internal link ที่เชื่อมไปหาแบบตรงๆ 2 บทความใช่ link แบบประโยคยาวๆ เพื่อให้ดูเป็นธรรมชาติ และไม่จงใจทำเกินไป
เน้นให้คนกดคลิ๊กมากที่สุด อาจจะทำเป็น ปุ่ม, รูปภาพ, เนื้อหา ได้หมดเลยครับ เน้นที่คนกดคลิ๊ก
ข้อควรระวังเรื่อง internal link ที่ผมอยากจะฝากไว้มีดังนี้ครับ
- อย่าใช้คำ keywords ที่ต้องการอันดับในหน้าเพจนั้นเป็น internal link หรือ External link
- ไม่ควรใช้ keywords เดียวกันแต่เชื่อมไปหาคนละหน้าเพจ เช่น “On-Page SEO” link ไปา หน้าเพจ A และ หน้าเพจ B
- ใน 1 บทความ ควรมี internal link โยงไปหาหน้าเพจ เพจละ 1 link เท่านั้นครับ ไม่ควรทำ link โยงไปหา หน้าเพจเดียวกันมากกว่า 2 link ในหนึ่งหน้าเพจ
- Internal link ควรเป็นแบบ Same window
สำหรับ internal link การวางแผนผังก่อนทำ จะช่วยทำให้เรามองเห็นภาพ และเข้าใจมากยิ่งขึ้นครับ ว่าหน้าเพจไหนควรเชื่อมโยง link ไปหาหน้าเพจไหน
9. External Links
External links หรือ Outbound Links คือ การเชื่อม Link ไปยังเว็บไซต์ภายนอก อาจจะมีนัก SEO บ้างท่านที่มองว่าการทำ link ไปเว็บไซต์ภายนอกคือการนำคะแนนของเว็บไซต์เราไปให้เว็บไซต์อื่น โดยไม่จำเป็น แต่ในมุมมองของผม ผมมองว่าการทำ link ออกไปสู่ภายนอกนั้น เป็นเรื่องธรรมชาติ ที่ควรแก่การทำ
ลองคิดแบบนี้ครับ ขนาดผู้เชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เขียนหนังสือสักเล่ม ยังต้องเขียนถึงแหล่งอ้างอิงของข้อมูลเลยเพื่อแสดงถึงความน่าเชื่อถือของสิ่งที่ต้องการเผยแพร่เลย หน้าเพจหรือหน้ากระดาษ ที่เราเผยแพร่ข้อมูล ก็เช่นกัน ถ้าเราไม่มีแหล่งข้อมูล ที่น่าเชื่อถือในการอ้างอิง ข้อมูลที่เราเขียนถึงก็อาจจะเป็นข้อมูลลอยๆ ได้ครับ โดยเฉพาะ เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับ การเงิน ชีวิต สุขภาพ ของผู้อ่าน ที่ Google เน้นมาตรฐานโดยเฉพาะ ให้เข้ากับเกณฑ์ Your Money or Your Lift.
การทำ External link นั้น เราควรโยงไปหาเว็บไซต์ที่มีความน่าเชื่อถือสูง จริงๆ เท่านั้นนะครับ ห้ามโยงไปหาเว็บไซต์ ไก่ กา เด็ดขาด โดยสามารถคัดได้จากตัวเลือกต่อไปนี้ครับ
- มีคะแนนเว็บไซต์ที่ถูกประเมินจากผู้ประเมินสูง เช่น Ahref, MOZ, Alxeza, Majetict ส่วนนี้แล้วแต่ความถนัดของเรานะครับ ว่าเราชอบค่ายไหน อย่างผมจะชอบยึดตาม Ahref ครับ
- เป็นเว็บไซต์ที่มีการอัพเดทบทความอย่างสม่ำเสมอ
- เป็นเว็บไซต์ที่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และเป็นผู้เชี่ยวชาญจริงๆ เท่านั้น เช่น เว็บไซต์ mahidol ……
- เป็นเว็บไซต์ที่มี Organic traffic เข้ามาภายในเว็บไซต์
- เป็นเว็บไซต์ที่ไม่ได้ถูก Google แบนมี keywords ติดอยู่ในหน้า SERP ของ Google
- เว็บไซต์ ไม่ใช่แหล่งสแปม Backlink, สแปมบทความ
สำหรับ External link ผมมีเทคนิคเล็กน้อย มาให้ดังนี้ครับ
- ให้ใช้เป็น Open New Tab
- ไม่ต้องทำเป็น Nofollow link
- อย่าใช้คำ keywords เป็น External link
- เว็บไซต์ที่โยงไปหาต้องเป็นเว็บไซต์ที่มีความน่าเชื่อถือสูงเท่านั้น
สำหรับ จำนวน link ขาออก ผมแนะนำให้ ใช้เท่าที่จำเป็นจริงๆ และเราคิดว่า เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์กับผู้อ่านก็พอครับ เน้นให้เป็นธรรมชาติมากที่สุด
10. Social Sharing Buttons
ปริมาณของ traffic ที่เข้ามาภายในหน้าเพจ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วย ที่ช่วยดัน Keywords ของเราให้อันดับดีขึ้นได้ครับ หากหน้าเพจเป็นหน้าเพจ ที่เพิ่งสร้าง การที่คนจะมาเจอนั้นยากมากครับ เราจึงต้องนำ บทความที่เราเขียนนั้น ไปเผยแพร่ ให้คนอื่นๆ เจอได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
ดังนั้นการแชร์ Contents บนเว็บไซต์ไปยัง Social Media ที่ตรงกับบทความของเรา ก็จะช่วยทำให้การทำ SEO ดียิ่งขึ้น และหาก Contents ที่เราทำนั้นมี คุณภาพ ผู้อ่านชื่นชอบ เราก็อาจจะได้ Backlink ที่เป็นธรรมชาติ หรือ ได้คนแชร์มากยิ่งขึ้นครับ
การติดตั้งปุ่มแชร์ไปยัง social media ต่างๆ สำหรับคนไทย ผมขอแนะนำ seed social ครับ เป็นปลั๊กอินยอดนิยมจาก ของพี่เม่น
ปัจจัยที่เกี่ยวกับ On-Page ปี 2020
ในหัวข้อนี้ เราจะมาดูกันครับ ว่ามี ปัจจัยใหญ่ๆ อะไรบ้าง ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับ On-Page SEO ที่มีผลต่ออันดับ ในการปรับแต่งภายในเว็บไซต์ครับ
Structure Website
Structure website หรือ โครงสร้างของเว็บไซต์ คือ การจัดลำดับความสำคัญของหน้าเว็บไซต์ เพื่อให้ Google สามารถเก็บข้อมูลได้ง่ายมากที่สุด โดยเฉพาะหน้าที่เราต้องการทำอันดับ หากเราเปรียบเทียบเว็บไซต์เป็นบ้าน ก็จำเป็นต้องมีแบบแปลนการในสร้างบ้านใช่ไหมละครับ เว็บไซต์ก็เช่นกัน
ยิ่งคุณออกแบบโครงสร้างของเว็บไซต์ดีมากเท่าไหร่ โอกาสในการติดอันดับในตำแหน่งดีๆ บน Google ก็จะมีมากขึ้นครับ โดยผมขอสรุปสาเหตุที่ Structure Website มีผลต่ออันดับ ดังนี้
1. UX And UI
ไม่ว่าจะในเรื่องของสี ขนาดฟอนต์ ภาพ การออกแบบเว็บไซต์ ล้วนแล้วแต่ เกี่ยวข้องกับ structure website หากเว็บไซต์ของคุณออกแบบมาสวยงาม จนผู้ใช้งานอยู่ในเว็บไซต์นานขึ้น คลิ๊กอยู่ในหลายๆ หน้า bounce rate ต่ำ เราก็จะได้อันดับที่ดีมากขึ้น ในทางกลับกันถ้าเราทำได้ไม่ดี
อันดับของเราบน Google ก็อาจจะสู้เว็บไซต์ที่ทำได้ดีกว่าไม่ได้ เนื่องจาก Google นำข้อมูลของผู้ใช้งานมาเป็นหนึ่งในปัจจัยการวัดคุณภาพของเว็บไซต์ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับ artificial intelligence ที่ชื่อว่า RankBrain ครับ
2. Google เก็บข้อมูลได้ง่ายมากขึ้น
การทำ structure website ที่ดี จะช่วยทำให้ Google สามารถเก็บข้อมูลได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งบางทีอาจจะมีบางหน้าเว็บไซต์ที่ Google เก็บข้อมูลได้ไม่หมด ตรงนี้จึงเป็นสาเหตุที่เราต้องสร้าง site map เพื่อให้ง่ายต่อการเก็บข้อมูล หากใครติดตั้งปลั๊กอิน Yoast SEO ส่วนนี้ไม่ต้องห่วงครับ เขาสร้างให้แล้ว
ดูได้โดยการเขียนต่อท้ายชื่อเว็บไซต์ ชื่อเว็บไซต์ของคุณ.com/sitemap_index.xml
หากเว็บไซต์ของคุณ มี structure website ที่ดี เวลาที่ผู้คนค้นหา ชื่อเว็บไซต์ของคุณบน google ก็จะมี site link ขึ้นแบบนี้ครับ
สำหรับวิธีการทำ structure website ผมขอสรุปออกมาเป็น 3 ข้อใหญ่ๆดังนี้
- ทำโครงสร้างของเว็บไซต์เป็นรูปแบบของลำดับขั้น
- โครงสร้างของเว็บไซต์ขนาดเล็กถึงปานกลางไม่ควรเกิน 3 ขั้น
- Focus keywords ที่ต้องการทำอันดับของเว็บไซต์ ให้เข้าถึงง่าย โดยการนำไปไว้ในส่วนของ navigation หรือ เมนูหลักของเว็บไซต์
- ทำเนื้อหาให้มี link เชื่อมโยงถึงกันในหน้าเว็บไซต์ที่ต้องการทำอันดับ
- ทำให้หน้าเหล่านั้นเป็นหน้าที่มีความสนใจมากที่สุด เป็นหลัก มี Traffic สูงในระดับนึง
โดยขั้นตอนแรกของการวางแผนทำโครงสร้างเว็บไซต์เราต้องทำ Keywords Research เพื่อให้มีข้อมูลมาเรียงลำดับความสำคัญกันก่อนครับ โดยผมขอยกตัวอย่างจาก keyword “ประกันรถยนต์” จากการใช้ neilpatel.com/ubersuggest/ keyword research tool ของพี่ neil patel เทพ digital marketing
เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว เราก็ลองนำมาวิเคราะห์ โดยเรียงลำดับจาก keyword หลักที่ต้องการทำอันดับ ข้อมูลที่ได้ก็อาจจะมีในส่วนที่เราจะต้องไปค้นหาต่อ เพื่อเติมให้เต็มด้วยนะครับ จะได้ดังนี้ครับ
สำหรับ keyword ที่เป็น keyword ย่อยออกมา อย่างเช่นคำว่า “ประกันรถยนต์ชั้น 2 คุ้มครองอะไรบ้าง” เราก็จะนำไปเป็น supporting content เพื่อมาดันอันดับ keyword หลักอีกทีนึงได้ครับ
หลังจากได้ข้อมูลมาแล้ว เราลองมาวางตำแหน่งของโครงสร้างเว็บไซต์กันครับ
เพียงเท่านี้เราก็จะได้โครงสร้างเว็บไซต์ ที่ต้องการจะทำอันดับใน keyword “ประกันรถยนต์” แล้วครับ ซึ่งในส่วนนี้เป็นเพียงแค่การยกตัวอย่างเพียงเท่านั้นนะครับ ของจริง ต้องวิเคราะห์กันอีกพอสมควรเลย
E-A-T
E-A-T หมายถึง Expertise(ความเชี่ยวชาญในบทความที่ตนเขียน), authoritativeness(ผู้มีอำนาจหรือเป็นเจ้าของบทความนั้นๆ), and trustworthiness(ความน่าเชื่อถือ) ซึ่งเป็นเกณฑ์วัดคุณภาพเนื้อหาของ google มีทั้งหมด 168 หน้า ใช้ประเมินคุณภาพของผลการค้นหาของ Google
ถูกเผยแพร่บนโลกออนไลน์ เมื่อปี 2013 เพื่อให้ Webmaster เข้าใจสิ่งที่ Google มองหา
E-A-T เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ตรวจเข้มมากสำหรับเว็บไซต์ ประเภท YMYL (Your Money or your Life) หรือเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกัน สุขภาพ การเงิน ความปลอดภัยในชีวิตประจำวันของผู้อ่าน
การทำเว็บไซต์ให้เข้าตามหลักเกณฑ์ของ E-A-T โดยส่วนใหญ่แล้วเว็บไซต์ส่วนมากควรที่จะใส่ใจ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดครับ ยกตัวอย่าง เว็บไซต์ที่เกี่ยวกับแมว ในเนื้อหา ที่เกี่ยวกับ การประกวดแมว เกณฑ์การวัดคุณภาพของเนื้อหาแบบ E-A-T ก็อาจจะไม่จำเป็นมากนัก เพราะ อยู่ที่ความชอบของแต่ละคนมากกว่า
ถึงอย่างนั้นเราก็ควรที่จะปรับปรุงเนื้อหา ของเราให้ตรงตามเกณฑ์ของ E-A-T ของ Google ซึ่งมักจะถูกพัฒนาอยู่บ่อยครั้ง
HTTPS
Http หรือ Hypertext Transfer Protocol เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่าง เว็บ กับ เว็บเซิร์ฟเวอร์ โดยปัจจุบัน ตัว http ได้มีการพัฒนา ให้มีการเข้ารหัสของข้อมูล เพื่อป้องกันข้อมูลรั่วไหล โดยเราจะเรียกว่า HyperText Transfer Protocol Secure ( https)
ซึ่ง Google ได้ให้ความสำคัญกับข้อมูลของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นอย่างมาก เว็บไซต์จึงควรมีการป้องกันที่ปลอดภัย ดังนั้น ทุกเว็บไซต์ควรเป็น https ทั้งหมด
โดยสรุปแล้ว https มีไว้เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งานเว็บไซต์นั้นเองครับ
ปัจจุบัน เราสามารถติดตั้ง https ได้ง่ายมาก มีผู้ให้บริการฟรี หลากหลายเจ้า หากเว็บไซต์ใครที่ยังไม่เป็น https ผมแนะนำว่า ควรรีบเปลี่ยนให้เร็วที่สุดครับ
ในส่วนนี้ Google เองก็แนะนำให้ใช้ และบอกอย่างชัดเจนว่าเป็นส่วนที่ใช้นับคะแนน เช่นกัน หากยังเป็น http ธรรมดาอยู่ เว็บไซต์ของคุณ ก็จะขึ้น “Not secure” บนบราวเซอร์ของ google chrome ซึ่งคงดูไม่ friendly นักทั้งในสายตาของ Google และ Users
Mobile Friendliness
Responsive Web Design ถ้าให้แปลตรงๆตัวเลยก็คือ “เว็บไซต์ที่รองรับทุกอุปกรณ์” ด้วยปัจจุบัน ที่มีอุปรกรณ์ที่ผู้คน สามารถเข้าถึงเว็บได้มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น คอมพิวเตอร์, โน๊ตบุ๊ค, แท็บแล็ต, มือถือ ต่างรุ่นต่างขนาดกันไป
โดยล่าสุด กูเกิลก็ประกาศอย่างชัดเจน เกี่ยวกับเรื่องของ Mobile-Fisrt Indexing ซึ่งหมายถึงว่าเขาให้ความสำคัญกับเว็บไซต์มือถือมากยิ่งขึ้น จากสถิติการค้นหาผ่านมือถือบนกูเกิล ยังเพิ่มสูงขึ้นมากขึ้นเรื่อย ๆ อ้างอิงจาก : สถิติการใช้เครื่องมือค้นหาผ่านมือถือ
ในกรณีที่เว็บไซต์ไหน ยังไม่รองรับทุกอุปกรณ์ ในปัจจุบัน แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่คุณจะเป็นสิ่งที่ Google เลือก
ดังนั้นจุดเริ่มต้น On-Page ที่ดีคือตรวจสอบดูว่าเว็บไซต์รองรับมือถือรึยัง ? สำหรับใครที่ใช้ WordPress ก็ไม่ต้องห่วงครับ ระบบถูกวางเอาไว้ให้รองรับมือถืออยู่แล้ว
ในกรณีที่ใครไม่ได้ใช้ WordPress ตรงส่วนนี้ก็คงต้องกลับไปแก้ไขให้เว็บไซต์เป็นในรูปแบบของ Responsive Web Design โดยเร็วที่สุด นอกจากเรื่องของ Responsive Web Design ที่ Google ให้ความสำคั
Page Speed
กูเกิลให้ความสำคัญของสปีดเว็บไซต์มากขึ้นกว่าเดิม และได้ประกาศอย่างชัดเจนว่า ความเร็วของเว็บไซต์ เป็นหนึ่งในปัจจัยในการจัดอันดับเว็บไซต์บนผลการค้นหา เพราะถ้าเว็บไซต์เราใช้เวลานานมากในการแสดงผลก็จะส่งผลต่อประสบการณ์ของผู้ใช้ในทางที่ไม่ดี เช่น Bounce rate สูง หรือ ผู้ใช้อยู่ในหน้าเว็บไซต์ช้าลง
วิธีตรวจสอบ Website speed ใช้โปรแกรมต่อไปนี้
สำหรับการแก้ไขปัญหาเว็บไซต์สปีด ในกรณีที่ไม่มีความรู้ทางด้านภาษาโค๊ดต่าง ๆ สามารถลองพิจารณาจ้างผู้เชี่ยวชาญมาปรับแต่งให้ได้หรือลองอ่าน การปรับแต่งเว็บไซต์สปีดด้วยปลั๊กอิน WP-Rocket แบบง่าย ๆ ด้วยตนเอง ที่ผมจะกลับมาเขียนให้อย่างแน่นอน เพื่อช่วยผู้ที่ไม่รู้จัก โค๊ดต่างๆ เหมือนกับผม 🙂
Core Web Vital
ในช่วงปลายปี 2020 Google ได้ออกมาประกาศ ถึงเกณฑ์การปรับปรุง Page Experiences ที่จะใช้เป็นหนึ่งในปัจจัยในการจัดอันดับ ในปี 2021 ที่มีคนให้ความสนใจ คือในเรื่องของ Core Web Vitals ที่จะเกี่ยวข้องกับ การให้คะแนนในส่วนของ UX ของเว็บไซต์ เพื่อให้มีมาตรฐานสำหรับเว็บไซต์ ในเรื่องของประสบการณ์ของผู้ใช้งานเว็บไซต์ มีอยู่ด้วยกัน 3 ส่วน นั้นคือ
- Large Contentful Paint (LPC)
- First Input Delay (FID)
- Cumulative Layout Shift (CLS)
ดังนั้นเรื่องของการปรับแต่งให้ถูกหลักของ Core Web Vital จึงเป็นเรื่องที่เราต้องให้ความสำคัญครับ
On-Page SEO เป็นเรื่องที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผมให้ความสำคัญ ในปัจจุบัน มากถึง 80% เลยทีเดียวครับ ผมมีมุมมองว่า หากเรามีการปรับแต่งเว็บไซต์อย่างถูกต้อง ถูกหลัก จนครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ค่อยเพิ่ม Backlink ที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับเว็บไซต์
การที่เราจะได้อันดับดีๆ บนหน้าแรกของผลการค้นหาของ Google เพื่อเพิ่ม Traffic เข้าสู่เว็บไซต์ เพื่อเพิ่มยอดขายนั้น มีความเป็นไปได้แน่นอนครับ
Facebook Comments